'เวิลด์แบงก์' มองจีดีพีไทยปี 2025 โต 1.8% จากเทรดวอร์กดดันส่งออก

04 กรกฎาคม 2568
'เวิลด์แบงก์' มองจีดีพีไทยปี 2025 โต 1.8% จากเทรดวอร์กดดันส่งออก
"เวิลด์แบงก์" มองจีดีพี ปี 2025 โต 1.8% สวนทางคาดการณ์แบงก์ชาติที่ 2.3% ชี้ ส่งออก Q1 ดีจริง แต่ "ครึ่งปีหลังหนัก"

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกจนทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างมาก

ล่าสุด (3 ก.ค.68) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงาน Thailand Economic Monitor ซึ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ เศรษฐกิจไทยปี 2025 ลงเหลือ 1.8% และปีหน้าลงเหลือ 1.7% เนื่องจากหลายปัจจัยแต่ที่เด่นที่สุดคือ “ผลกระทบจากสงครามการค้า

รายงานระบุว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการช่วงเดือนก.พ. จากรายงาน Thailand Economic Monitor ที่ตอนนั้นคาดการณ์ว่าจีดีพีจะโตได้สูงถึง 2.9% แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากในปัจจุบันจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการส่งออกโดยตรง และชะลอการลงทุนภายในประเทศ

ทั้งนี้ รายงาน Ease Asia and Pecific Update ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นรายงานฉบับปรับปรุงที่รายงานออกมาในเดือนเม.ย. ระหว่างการประชุม IMF-World Bank Spring Meeting รายงานฉบับปรับปรุงนี้ ปรับคาดการณ์จีดีพีไทยทั้งปี 2025 อยู่ที่ 1.6%

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากเวิลด์แบงก์ ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการกรุงเทพธุรกิจ Deeptalk ว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าจะทำให้การส่งออกช่วงที่เหลือของปีชะลอตัวซึ่งแม้ว่าในไตรมาสที่หนึ่งตัวเลขการส่งออกจะดูดี แต่ก็เป็นเพราะเป็นการเร่งการส่งออกในช่วงการชะลอภาษี 90 วันของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ Front-loading ซึ่งเมื่อหักล้างกับช่วงที่เหลือของปีแล้วก็คาดว่าจะทำให้จีดีพีโตได้แค่ 1.8% ตามรายงาน

อีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการเติบโตของปีนี้เช่นเดียวกัน ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยในประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวจีนย้ายไปประเทศอื่นในเอเชีย

เงินเฟ้อไทยต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท.

สำหรับทิศทางราคาสินค้า และบริการ เวิลด์แบงก์มองว่า แนวโน้ม “เงินเฟ้อของไทย” มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากบางช่วงเวลาติดลบ และใกล้เคียงกับ 0% โดยอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำนี้ สะท้อนจาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้ :

  1. อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ : เวิลด์แบงก์ ชี้ว่านี่เป็นสิ่งที่เห็นมานานแล้ว และปัจจุบันยิ่งชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคที่ได้รับผลกระทบจาก ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเปรียบเสมือน "กรรมเก่า" ที่ไทยต้องชดใช้ และส่งผลต่อการบริโภคที่ลดลง
  2. นโยบายการตรึงราคา : ประเทศไทยมีนโยบายตรึงราคาสินค้า และบริการบางประเภท เช่น ค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาของสินค้าหลายหมวดไม่ค่อยมีการขยับ ซึ่งทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ


“แม้เงินเฟ้อจะต่ำ แต่ ณ ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งหมายถึง การปรับลดลงของราคาในทุกหมวดหมู่สินค้าในวงกว้าง โดยมองว่าการลดลงของราคาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน” ดร.เกียรติพงศ์ กล่าว

'แบงก์ชาติ' มองเศรษฐกิจไทยดีกว่า 'เวิลด์แบงก์'

มากไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.ธปท.ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยในปี 2025 ขึ้นเป็น 2.3% จากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ที่สดใสตามคาด และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในไตรมาส 2 ที่เริ่มออกมา ดังนั้นเมื่อถามว่าทำไมเวิลด์แบงก์ และ ธปท. มองแนวโน้มจีดีพีปี 2025 แตกต่างกันค่อนข้างมาก

ในประเด็นนี้ ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า “ธปท. อ้างอิงตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าคาด แต่ทางธนาคารโลกมองว่าการที่จีดีพีในไตรมาส 1 ดูดีนั้นมาจากปัจจัยชั่วคราว คือ เรื่องการส่งออกที่เร่งตัว แต่คาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้”

ปัญหาเชิงโครงสร้าง '3 เนิน' เศรษฐกิจไทย

นอกจากปัญหาระยะสั้นจากสงครามการค้าแล้ว เมื่อถามถึง “ภาพรวมปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย” ว่ามีอะไรบ้างและเปรียบเสมือนอะไร นักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ผู้นี้ระบุว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน “เนิน” ที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วย

1. สังคมสูงอายุ : จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลง ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยากขึ้น

2. ทุนมนุษย์ และทักษะ (Digital Skill) : การขาดแคลนทักษะดิจิทัล และการศึกษาที่ยังไม่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ไทยมีการรับรองหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมสูง แต่ยังขาดแคลนคนที่มีทักษะในการควบคุม และบริหารจัดการ

3. นโยบายการคลัง : การบริหารจัดการงบประมาณ การจัดสรรการใช้จ่าย และการจัดเก็บรายได้ เพื่อลงทุนในอนาคตของประเทศโดยไม่สร้างภาระหนี้ที่เกินตัวให้กับคนรุ่นหลัง

 


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.